วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ทิโค บราห์

ทิโค บราห์
TYCHO BRAHE
ค.ศ. 1546 - 1601

ทิโค บราห์ นักดาราศาตร์ชาวเดนมาร์ก ได้สร้างผลงานทางดาราศาสตร์ไว้มากมาย โดยเฉพาะบันทึกตำแหน่งดวงดาวบนท้องฟ้าที่ทิโคได้บันทึกไว้ร่วม 40 ปี ซึ่งบันทึกดังกล่าวเปรียบเสมือนมรดกอันล้ำค่าที่โยฮันเนส เคปเลอร์ (ผู้ซึ่งเป็นผู้ช่วยของทิโค) ได้ครอบครองหลังจากทิโคได้เสียชีวิตลงอย่างกระทันหันและเป็นการเสียชีวิตที่เป็นปริศนาจนถึงปัจจุบันว่าเป็นการฆาตกรรมหรือการเสียชีวิตอย่างกระทันหัน รวมไปถึงข้อสงสัยที่ว่าเคปเลอร์ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของทิโคหรือไม่
บันทึกของทิโคได้ระบุตำแหน่งดวงดาวบนท้องฟ้าไว้ถึง 777 ดวง และมีความแม่นยำที่สูงมากในยุคสมัยนั้นซึ่งยังไม่มีกล้องโทรทรรศน์ โดยที่ทิโคเองได้ประดิษฐ์เครื่องมือวัดจำนวนหลายชิ้น รวมทั้งสร้างหอดูดาวยูเรนิเบิร์กอันโด่งดังเพื่อให้การสังเกตการณ์ดวงดาวบนท้องฟ้ามีความถูกต้องสูง ซึ่งในเวลาต่อมาหลังจากที่เคปเลอร์ได้ครอบครองบันทึกดังกล่าว เคปเลอร์ได้ใช้ข้อมูลจากบันทึกของทิโคมาสร้างกฎ 3 ข้อที่ว่าด้วยการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ (Kepler's three laws of planetary motion) ซึ่งเป็นกฎพื้นฐานที่สำคัญทางดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ด้านอวกาศ
ในยุคของทิโค บราห์นั้น เป็นที่ยอมรับว่า ทิโค บราห์เป็นนักดาราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด กระทั่งเคปเลอร์เองก็ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยของทิโค อย่างไรก็ตาม แบบจำลองจักรวาลของทิโคกลับมีข้อผิดพลาดและไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เราทราบกันในปัจจุบัน โดยแบบจำลองดังกล่าวผสมผสานระหว่างแบบจำลองของโคเปอร์นิคัสและของปโตเลมี

วัยเยาว์ของทิโค
ทิโค บราห์ เกิดในตระกูลชนชั้นสูงที่มีฐานะดีในปี 1546 หลังจากโคเปอร์นิคัสเสียชีวิตลง 3 ปี บิดาของทิโคดำรงตำแหน่งขุนนางชั้นสูงในราชสำนักของกษัตริย์เดนมาร์ก ส่วนมารดาของทิโคก็สืบเชื้อสายมาจากตระกูลชั้นนำของเดนมาร์ก ครอบครัวของทิโคมีบุตร 4 คน โดยเป็นหญิง 2 คน ส่วนทิโคและน้องชายเป็นฝาแฝด แฝดผู้น้องของ ทิโคได้เสียชีวิตลงหลังจากที่ได้กำเนิดไม่นาน
ในวัยเยาว์ของทิโค ครอบครัวลุงของทิโคดำรงตำแหน่งขุนนางชั้นสูงและมีฐานะดีแต่ไม่มีบุตร จึงได้ขอทิโคไปเลี้ยงดูตั้งแต่อายุ 2 ขวบ ในปี 1559 ซึ่งทิโคอายุเพียง 12 ขวบได้เข้ารับการศึกษาด้านกฎหมายตามความประสงค์ของลุงที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน นอกจากวิชาด้านกฎหมายแล้ว ทิโคยังได้สนใจศาสตร์ด้านอื่นๆ อีกด้วย โดยเฉพาะศาสตร์ด้านดาราศาสตร์ ซึ่งในห้วงเวลาดังกล่าว ได้เกิดสุริยปราคราขึ้นเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 1960 โดยปรากฎการณ์ดังกล่าวได้มีผู้คำนวณและทำนายไว้ล่วงหน้า ซึ่งการทำนายว่าจะเกิดปรากฎการณ์ดังกล่าวได้สร้างความประทับใจและสร้างแรงกระตุ้นให้แก่ทิโคทำการศึกษาและค้นคว้าในเรื่องดาราศาสตร์อย่างจริงจัง

ศึกษาดาราศาสตร์และการค้นพบครั้งแรกของทิโค
ในปี 1962 ลุงของทิโคส่งเสริมให้ทิโคได้มีประสบการณ์ในการศึกษา ณ ต่างประเทศ โดยทิโคได้เข้ารับการศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยไลป์ซิก (Leipzig) ทางด้านภาษาและวัฒนธรรม โดยวิชาดาราศาสตร์ไม่ได้เป็นวิชาที่ทิโคจะต้องศึกษาอย่างเป็นทางการ แต่ทิโคได้เริ่มสังเกตและทำบันทึกดวงดาวบนท้องฟ้า โดยทิโคได้ตระหนักว่าความสำเร็จในขบวนการทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะทางด้านดาราศาสตร์ที่เขากำลังศึกษาค้นคว้าอยู่นั้น อาจจะเกิดขึ้นได้โดยความบังเอิญของผู้ค้นคว้า แต่การสังเกตดวงดาวอย่างมีระบบที่ใช้ระเบียบวินัยสูงนั้นก็น่าจะทำให้ประสบผลสำเร็จได้เช่นกัน ดังนั้นทุกๆ คืนทิโคได้ทำการสังเกตและบันทึกดวงดาวบนท้องฟ้า โดยใช้เครื่องมือวัดที่มีความแม่นยำที่พอจะหาได้ในยุคนั้น จากการใช้เครื่องมือวัดดังกล่าว ทิโคได้ตระหนักถึงขีดจำกัดของเครื่องมือวัดที่เขาซื้อมาใช้ ดังนั้นเพื่อให้บรรลุถึงความแม่นยำสูงสุด ทิโคได้ประดิษฐ์เครื่องมือวัดขึ้นใช้เองโดยมีความแม่นยำที่สูงกว่าเครื่องมือวัดที่จัดซื้อมาใช้ ซึ่งในประวัติศาสตร์ของดาราศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า ทิโคเป็นนักดาราศาสตร์ที่สำคัญและเป็นคนสุดท้ายที่สร้างผลงานโดยไม่ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์
                                                               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น