วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เอ็ดวิน พาวเวลล์ ฮับเบิล

เอ็ดวิน พาวเวลล์ ฮับเบิล
EDWIN POWELL HUBBLE
ค.ศ. 1889 - 1953


หลายๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินชื่อ "กล้องดูดาวฮับเบิล" ซึ่งเป็นกล้องดูดาวที่ไม่ได้อยู่บนพื้นโลกของเรา แต่เป็นกล้องที่ถูกส่งขึ้นไปโคจรในอวกาศรอบโลกของเรา โดยชื่อของกล้องดังกล่าวได้ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้กับเอ็ดวิน พาวเวลล์ ฮับเบิล นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่
ทั้งนี้ในแวดวงนักดาราศาสตร์เป็นที่ทราบดีว่า ฮับเบิลเป็นผู้ที่เปลี่ยนความเข้าใจของนักดาราศาสตร์ทั้งหลายในเรื่องธรรมชาติของเอกภพ โดยฮับเบิลได้แสดงให้เห็นว่ายังมีกาแล็กซีอื่นๆ อีกที่ปรากฏอยู่ใกล้กับกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา โดยกาแล็กซีต่างๆ เคลื่อนที่ห่างออกไปจากโลกของเราด้วยความเร็วที่สัมพันธ์กับระยะทาง ซึ่งความหมายอีกนัยหนึ่งก็คือ เอกภพหรือจักรวาลมีการขยายตัวออกไป
นอกจากนี้ฮับเบิลยังค้นพบว่า แสงที่เดินทางมาจากกาแล็กซีอื่นนั้น จะมีองศาของการเลื่อนไปทางแดง (ความยาวคลื่นของเส้นสเปกตรัมของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นไปจากเดิม) เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนกับระยะระหว่างกาแล็กซีและทางช้างเผือก ซึ่งต่อมาได้ถูกเรียกว่า "กฎของฮับเบิล (Hubble’s law)"

วัยเยาว์
ฮับเบิลเกิดที่มิสซูรีในปี 1889 จากนั้นในปี 1898 ครอบครัวของฮับเบิลได้ย้ายไปพำนักที่นครชิคาโก ในวัยเยาว์ฮับเบิลมีความสามารถพิเศษทางด้านกรีฑา โดยฮับเบิลสามารถทำลายสถิติกระโดดสูงของรัฐอิลินอยส์ลงได้ สำหรับในด้านการศึกษา ฮับเบิลมีผลการเรียนที่ดี และได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยชิคาโก โดยสนใจเรียนด้านคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ และปรัชญา โดยฮับเบิลสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี 1910 หลังจากนั้นฮับเบิลได้รับทุนการศึกษา “Rhodes scholarship” โดยเข้าเรียนด้านกฎหมาย ณ มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด แห่งประเทศอังกฤษ

เอดวาร์ด อีเมอร์สัน บาร์นาร์ด

เอดวาร์ด อีเมอร์สัน บาร์นาร์ด
Edward Emerson Barnard
ค.ศ. 1857 - 1923

เอดวาร์ด อีเมอร์สัน บาร์นาร์ด หรือ อี. อี. บาร์นาร์ด เป็นนักดาราศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงว่าเป็นนักสังเกตการณ์ที่เด่นที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของดาราศาสตร์ ว่ากันว่าเขาดูดาวเก่งและขยันไม่แพ้วิลเลียม เฮอร์เชล ผู้ค้นพบดาวยูเรนัสเลยทีเดียว อี. อี. บาร์นาร์ดเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1857 ในครอบครัวยากจนแห่งเมืองแนชวิลล์ มลรัฐเทนเนสซี ความยากจนทำให้เขาต้องอดมื้อกินมื้ออยู่เสมอ
เพื่อบรรเทาความทุกข์ยาก หนูน้อยบาร์นาร์ดมักชอบนอนดูดาวในค่ำคืนอันอบอุ่น พิจารณาฟากฟ้าอย่างละเอียด เอาดาวเป็นเพื่อนโดยไม่มีความรู้ทางดาราศาสตร์เลยแม้แต่นิดเดียว ในขณะนั้นเขาไม่มีทางรู้เลยว่าเพื่อนของเขาที่เจิดจรัสอยู่กลางฟ้าในฤดูร้อนมีชื่อว่าวีกา เขาจำดาวในท้องฟ้าได้มากมาย และไม่นานก็สังเกตเห็นว่าดาวบางดวงย้ายที่ไปในท่ามกลางหมู่ดาวทั้งหลาย โดยไม่รู้อีกเช่นกันว่าดาวเหล่านั้นเรียกว่าดาวเคราะห์
เมื่อหนูน้อยบาร์นาร์ดอายุได้ 8 ขวบ เขาได้เข้าทำงานในร้านถ่ายรูปของแวน สตาวอเรน งานของเขาคือการคอยโยกกล้องจูปิเตอร์ที่ติดตั้งอยู่บนหลังคาให้รับแสงดวงอาทิตย์โดยตรงตลอดเวลา เพื่อช่างภาพจะได้ใช้แสงนี้อัดรูปจากแผ่นเนกาทิฟ ถ้าเป็นเด็กคนอื่นคงไม่มีใครยอมทำงานแบบนี้ หรือถ้าทำก็คงทิ้งงานหลังจากตามดวงอาทิตย์ไปได้ไม่เท่าไร แต่บาร์นาร์ดกลับสนใจเรื่องตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ซึ่งบางวันขึ้นสู่จุดสูงสุดตอนเที่ยงวัน แต่บางวันขึ้นสูงสุดก่อนเที่ยงหรือหลังเที่ยง บางทียังก่อนหรือหลังได้นานหลายนาที
บาร์นาร์ดได้เรียนรู้เมื่อหลายปีให้หลังว่าสิ่งที่เขาค้นพบ แต่ไม่รู้ว่าอะไร คือสมการเวลา ซึ่งเป็นค่าความต่างระหว่างเวลาสุริยคติเฉลี่ยกับเวลาสุริยคติปรากฏ เป็นผลจากการที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีและแกนหมุนของโลกที่ทำมุมเอียงกับระนาบสุริยวิถี (มีค่าเป็นศูนย์ได้ 4 ครั้งในรอบปี คือ วันที่ 15 เมษายน 14 มิถุนายน 1 กันยายน และ 25 ธันวาคม สมการเวลาจะมีค่าต่างกันไม่เกิน 16 นาที)
ตอนค่ำหลังเลิกงาน บาร์นาร์ดต้องเดินกลับบ้านเป็นระยะทางไกล เขาเอาดาวไม่ประจำที่ดวงสว่างสีเหลืองดวงหนึ่งเป็นเพื่อนร่วมทาง ไม่มีใครบอกเขาว่าดาวดวงนั้นชื่อดาวเสาร์
บาร์นาร์ดทำงานอยู่ในร้านถ่ายรูปอยู่นานถึง 17 ปี มีความรู้ทางทัศนศาสตร์ที่ใช้งานได้ ระหว่างนั้นเขาสร้างกล้องโทรทรรศน์ขึ้นใช้เอง กระบอกกล้องทำจากกล้องส่องทางไกลจากเรือเก่าๆ ลำหนึ่ง เลนส์ใกล้ตาถอดมาจากซากกล้องจุลทรรศน์ ส่วนขาตั้งก็ใช้ขาตั้งสำรวจ เขาส่องกล้องดูดาวบนฟ้าครั้งละหลายชั่วโมง เป้าหมายที่ชอบเป็นพิเศษคือดาวพฤหัสบดี
อยู่มาวันหนึ่ง เพื่อนที่จนพอๆกันมาขอยืมเงิน 2 เหรียญจากบาร์นาร์ด โดยทิ้งหนังสือเป็นจำนำไว้เล่มหนึ่ง บาร์นาร์ดทราบดีว่าไม่มีทางจะได้เงินคืน และโกรธมาก เพราะเงิน 2 เหรียญนับว่าเป็นจำนวนมากสำหรับเขาในตอนนั้น หลังจากรอเพื่อนอยู่นาน เขาก็ตัดสินใจยึดหนังสือเล่มนั้น พอเขาเปิดหนังสือ จึงพบว่าหนังสือเล่มนั้นเป็นตำราดาราศาสตร์
แผนที่ฟ้าในหนังสือเป็นแผนที่ฟ้าแผ่นแรกที่บาร์นาร์ดเคยเห็น เขารีบเอาแผนที่ไปยืนริมหน้าต่าง ดูแผนที่เทียบกับดาวในท้องฟ้าที่เขาคุ้นเคยเป็นอย่างดี และไม่ถึงชั่วโมงเขาก็ทราบว่าผองเพื่อนเก่าแต่เยาว์วัยของเขาล้วนมีชื่อเรียก ทั้งดาวเวกา ทั้งกลุ่มดาวหงส์ ทั้งดาวตานกอินทรี นับเป็นก้าวแรกเข้าสู่โลกดาราศาสตร์อย่างเป็นทางการของบาร์นาร์ด
บาร์นาร์ดอ่านหนังสือเพิ่มเติมอีกมาก รวมทั้งจ้างครูสอนคณิตศาสตร์มาสอนเขาเป็นพิเศษ จนในที่สุดเขาสำเร็จปริญญาตรีทางคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ และทำงานเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยนั่นเอง
                            

โยฮันน์ คาร์ล ฟรีดริซ เกาส์

โยฮันน์ คาร์ล ฟรีดริซ เกาส์
JOHANN CARL FRIEDRICH GAUSS
ค.ศ. 1777 - 1855

ในแวดวงวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นที่ทราบกันดีว่า เกาส์ได้รับการยกย่องว่าเป็น "เจ้าชายแห่งคณิตศาสตร์" โดยเฉพาะทฤษฎีจำนวนที่เกาส์ได้ค้นพบในขณะที่มีอายุเพียง 21 ปี ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน นอกจากผลงานด้านคณิตศาสตร์แล้ว เกาส์ยังได้นำเสนอผลงานเด่นในอีกหลายๆ ด้านอาทิเช่น ดาราศาสตร์ ภูมิมาตรศาสตร์(geodesy) และ แสง

วัยเยาว์
เกาส์เกิด ณ เมืองบรันสวิก ประเทศเยอรมัน ในปี 1777 มีเรื่องเล่ามากมายที่ระบุถึงความเป็นอัจฉริยะของเกาส์ในวัยเยาว์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าฉงน อาทิเช่น ในขณะอายุได้ 3 ขวบ เกาส์ได้สังเกตเห็นว่าบิดาตนเองคำนวณตัวเลขทางการเงินผิด หรือ อีกเรื่องหนึ่งที่มีการเล่าไว้ว่า เกาส์ในวัย 10 ขวบสามารถคำนวณหาผลบวกของเลขจำนวนเต็มตั้งแต่ 1 ถึง 100 ภายในไม่กี่วินาที ซึ่งได้สร้างความประหลาดใจให้กับคุณครูผู้สอนเป็นอย่างมาก ผลจากความเป็นอัฉริยะตั้งแต่เยาว์วัยทำให้เกาส์ได้รับการอุปถัมถ์ในด้านการศึกษาจากดุ๊กแห่งบรันสวิก

การค้นพบครั้งแรก
เกาส์เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยเจอทิงเจนในปี 1795 โดยเกาส์เข้าศึกษาด้านคณิตศาสตร์ และได้ค้นพบวิธีการสร้างรูป 17 เหลี่ยมด้านเท่าโดยใช้วงเวียนและไม้บรรทัดเท่านั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการค้นพบที่สำคัญในสาขาดังกล่าวนับแต่ยุคกรีซ โดยผลงานการค้นพบนี้ ได้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือ Disquisitiones Arithmeticae (การสำรวจทางคณิตศาสตร์) ซึ่งได้กล่าวถึงทฤษฎีจำนวนอันโดดดังของเกาส์ 

เซอร์ ไอแซค นิวตัน

เซอร์ ไอแซค นิวตัน
SIR ISAAC NEWTON
ค.ศ. 1642 - 1727

ไอแซค นิวตัน เป็นนักวิทยาศาสตร์เอกของโลกชาวอังกฤษที่มีความเชี่ยวชาญหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ และปรัชญา โดยในยุคเดียวกัน นิวตันเป็นผู้ที่สร้างผลงานที่โดดเด่นมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกฎแรงดึงดูดระหว่างมวล กฎการเคลื่อนที่ คณิตศาสตร์แคลคูลัส และทฤษฎีด้านแสง ข้อแตกต่างของนิวตันที่ต่างจากนักวิทยาศาสตร์รุ่นก่อนๆ คือ นิวตันเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความพิถีพิถันในการทำงาน การทำการทดลองของนิวตันจะมีระเบียบแบบแผนและมีการทดลองซ้ำหลายครั้งเพื่อขจัดของผิดพลาดที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการจดบันทึกที่มีระบบและมีรายละเอียด

วัยเยาว์
ไอแซค นิวตัน เกิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ.1642 ที่วูลส์ทอร์ป แคว้นลินคอล์นเชียร์ ประเทศอังกฤษ นิวตันกำพร้าบิดาตั้งแต่เกิด อีกทั้งเมื่ออายุได้ 3 ขวบ มารดาของนิวตันได้แต่งงานใหม่ และพ่อเลี้ยงใหม่บังคับให้นิวตันย้ายไปอยู่กับยาย แต่นิวตันเองก็เข้ากับยายได้ไม่ค่อยจะดีในตลอดช่วงเวลาหลายปีที่อาศัยอยู่กับยาย ทำให้ชีวิตวัยเด็กของนิวตันเป็นช่วงชีวิตที่ไม่สมบูรณ์เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ
นิวตันเริ่มต้นเข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนในหมู่บ้าน เมื่อเริ่มต้นเรียนหนังสือครั้งแรกนั้น นิวตันไม่ได้เป็นนักเรียนที่แสดงความสามารถพิเศษใดๆ ออกมาว่าเป็นจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ในอนาคตอย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาต่อมา ความสามารถในด้านการประดิษฐ์และพรสวรรค์ด้านวิทยาศาสตร์ของนิวตันได้เริ่มปรากฏขึ้น

วัยศึกษา
ในช่วงเรียนมัธยมปลาย อนาคตของนิวตันอยู่บนทางสองแพร่ง โดยมารดาของนิวตันต้องการให้นิวตันยุติการเรียนเพื่อมาช่วยงานในฟาร์มของครอบครัว แต่ลุงและอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมัธยมได้ตระหนักถึงความสามารถและความเฉลียวฉลาดของนิวตันจึงได้เกลี้ยกล่อมมารดาของนิวตันให้อนุญาตให้นิวตันได้เรียนต่อจนจบมัธยมปลาย ซึ่งถ้านิวตันไม่ได้บุคคลทั้งสอง เราคงจะไม่รู้จักนิวตันในฐานะนักวิทยาศาสตร์เอกของโลก
                                       

คริสเตียน ไฮเกนส์

คริสเตียน ไฮเกนส์
Christiaan Huygens
ค.ศ. 1629 - 1695

ไฮเกนส์เป็นนักคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์และฟิสิกส์ชาวดัทซ์ เกิดเมื่อ 14 เมษายน 1629 ณ เมืองเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ บิดาของไฮเกนส์เป็นถึงข้าราชการระดับสูงของเนเธอร์แลนด์

วัยเยาว์ และวัยหนุ่ม
จากการที่บิดารับราชการในระดับสูง ฐานะของครอบครัวไฮเกนส์จึงอยู่ในระดับที่มั่งคั่ง โดยในวัยเยาว์ไฮเกนส์ได้รับการศึกษาอย่างเป็นส่วนตัว ณ ที่บ้านพัก ซึ่งสอนโดยบิดาของเขาและคุณครูส่วนตัว จากนั้นในปี 1645 เมื่ออายุได้ 16 ปี ไฮเกนส์เข้าศึกษาสาขาวิชากฎหมายและคณิตศาสตร์ที่เมืองไลเดนและต่อมาในปี 1947 ได้เข้าศึกษาสาขาวิชากฎหมาย ณ วิทยาลัยกฎหมายแห่งเมืองเบรดา โดยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาวิชากฎหมายในปี 1655 จากนั้นไฮเกนส์ได้หันเหความสนใจในวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น

ค้นพบดวงจันทร์ไททัน
จากการที่ไฮเกนส์มีความสัมพันธ์ที่ดีกับแอนโทนี แวน ลีเวนฮุค ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นนักประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ที่ดีที่สุดในยุคนั้น ลีเวนฮุคมีความสามารถเก่งมากในเรื่องการลับและตัดเลนส์ จากการสังเกตและเฝ้าดูการทำงานของลีเวนฮุค ไฮเกนส์ได้ทำการลับเลนส์เพื่อสร้างกล้องโทรทรรศน์สำหรับดูดาวขึ้น จากกล้องโทรทรรศน์ที่ไฮเกนส์ประดิษฐ์ขึ้น ไฮเกนส์ค้นพบดวงจันทร์ไททันของดาวเสาร์ในปี 1655
ดังที่เราทราบมาแล้วว่า ได้มีโครงการชื่อ แคสซีนี-ไฮเกนส์ ซึ่งส่งยานสำรวจไปยังดาวเสาร์ ทั้งนี้ยานสำรวจลูกที่ปฏิบัติภารกิจร่อนลงบนดวงจันทร์ไททันของดาวเสาร์ถูกตั้งชื่อว่ายานสำรวจไฮเกนส์
  

จิโอวานนิ โดมีนิโค แคสซีนี

จิโอวานนิ โดมีนิโค แคสซีนี
Giovanni Domenico Cassini
ค.ศ. 1625 - 1712

แคสซีนีเป็นนักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ วิศวกร และนักโหราศาสตร์ชาวอิตาเลียน เกิดที่เมืองเปอร์รินัลโด ใกล้กับซานรีโม ซึ่ง ณ เวลานั้นอยู่ในสาธารณะรัฐเจนัว หลังจากที่แคสซีนีย้ายไปยังฝรั่งเศสเพื่อทำงานด้านดาราศาสตร์ให้กับราชสำนักสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แคสซีนีได้เปลี่ยนชื่อเป็น
ฌองน์ โดมินิก แคสซีนี
แคสซีนีเป็นคนแรกในตระกูลแคสซีนีที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ หอดูดาว ณ กรุงปารีส จึงถูกเรียกว่า Cassini I หลังจากนั้นอีก 3 คนในตระกูลได้แก่ บุตร (Cassini II) หลานชาย (Cassini III) และ บุตรของหลานชาย (Cassini IV) ก็ได้สืบทอดการเป็นนักดาราศาสตร์ที่กรุงปารีส

วัยเยาว์
ตามประวัติของแคสซีนีแล้ว มีการระบุการเริ่มเข้าศึกษาในวัยเยาว์ไม่ชัดเจน ทราบแต่เพียงว่า
แคสซีนีอยู่ในความอุปการะของลุง หลังจากได้รับการศึกษาที่วอลลีบอนเป็นเวลาสองปี แคสซีนีได้เข้าศึกษาที่วิทยาลัยเจซูอิตในเจนัว และต่อจากนั้นแคสซีนีได้เข้าศึกษาที่โบสถ์ของเมือง San Fructuoso ที่ซึ่งแคสซีนีได้แสดงอยากรู้อยากเห็นและสนใจในสาขาวิชาวรรณกรรม คณิตศาสตร์และดาราศาสตร์

ชีวิตนักดาราศาสตร์
น้อยคนอาจจะไม่ทราบว่า ความสนใจแรกเริ่มของแคสซีนีนั้นกลับเป็นเรื่องโหราศาสตร์แทนที่จะเป็นดาราศาสตร์ แคสซีนีศึกษาและค้นคว้าอย่างจริงจัง จนทำให้เขามีความรู้เรื่องโหราศาสตร์เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม แคสซีนีก็ยอมรับว่าการทำนายทางโหราศาสตร์ยังเป็นเรื่องที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ และเป็นเรื่องที่แปลกมาก ที่ความรู้ทางด้านโหราศาสตร์มีส่วนทำให้แคสซีนีได้งานครั้งแรกและเป็นด้านดาราศาสตร์เสียด้วย ทั้งนี้มีวุฒิสภาเมืองโบโลญญาท่านหนึ่งที่มีความสนใจในเรื่องโหราศาสตร์ได้เชิญแคสซีนีไปยังเมืองโบโลญญา จากนั้นวุฒิสภาท่านนั้นได้เสนอตำแหน่งงานนักดาราศาสตร์ที่หอดูดาว
ณ พานซาโน ซึ่งสร้างขึ้นโดยวุฒิสภาท่านนั้น แคสซีนีรับข้อเสนอดังกล่าว และทำงานด้านดาราศาสตร์ที่หอดูดาวพานซาโน ในช่วงปี 1648 ถึง 1669
ปี 1950 ได้รับดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ด้านดาราศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยโบโลญญา แคสซีนีได้สร้างหอดูดาวขึ้นที่คอหอยของโบสถ์
เซ็นปีโตนิโอเพื่อสังเกตการณ์ดาวหาง
                    

โจฮันเนส เคปเลอร์

โจฮันเนส เคปเลอร์
JOHANNES KEPLER
ค.ศ. 1571 - 1630

เคปเลอร์เป็นทั้งนักคณิตศาสตร์ นักโหราศาสตร์และนักดาราศาสตร์ โดยมีชาติกำเนิดเป็นชาวเยอรมัน ผลงานที่สำคัญของเคปเลอร์ได้แก่ กฎสามข้อที่ว่าด้วยการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญทางดาราศาสตร์และวิศวกรรมระบบดาวเทียม

วัยเยาว์ของเคปเลอร์
เคปเลอร์เกิดในครอบครัวที่ยากจน บิดาของเคปเลอร์มีอาชีพเป็นทหารรับจ้าง และได้จากครอบครัวไปร่วมรบในสงครามที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ในขณะที่เคปเลอร์มีอายุได้ 5 ขวบ โดยไม่ได้กลับคืนสู่มาตุภูมิอีกเลย มารดาของเคปเลอร์เป็นบุตรสาวของเจ้าของโรงแรมเล็กๆในเมือง
ในวัยเยาว์ เคปเลอร์มีสุขภาพที่ไม่แข็งแรง โดยอายุได้ 4 ขวบ เคปเลอร์ป่วยเป็นไข้ทรพิษ ทำให้สายตาไม่ดีและมือพิการไปข้างหนึ่ง แต่เคปเลอร์เป็นเด็กที่มีความเฉียวฉลาด และชอบที่จะอธิบายคณิตศาสตร์ที่เข้าใจได้ยากให้แก่แขกที่มาพักที่โรงแรมของตา และจากการที่มีผู้แนะนำเรื่องดาราศาสตร์ให้แก่เคปเลอร์ในขณะวัยเยาว์ ทำให้เคปเลอร์ได้มีพัฒนาการที่ชอบและรักดาราศาสตร์ โดยในปี 1577 ขณะที่มีอายุได้ 6 ขวบ เคปเลอร์ได้สังเกตดาวหาง โดยเขาได้ร้องขอให้มารดาพาไปยังบริเวณที่สูงที่สุดเพื่อจะสังเกตเห็นดาวหางได้ชัดเจน และในปี 1580 เคปเลอร์ในวัย 9 ขวบได้สังเกตปรากฏการณ์จันทรุปราคา ซึ่งมีลักษณะสีแดง
เนื่องจากฐานะที่ยากจน ทำให้เคปเลอร์ได้รับการศึกษาแบบไม่ค่อยต่อเนื่องนัก จนกระทั่งในปี 1589 เคปเลอร์ได้รับทุนจากศาสนจักร ทำให้ได้เข้าศึกษาด้านศาสนาที่มหาวิทยาลัยทูบิงเงิน เคปเลอร์ได้พิสูจน์ให้อาจารย์และคนรอบข้างได้ประจักษ์ว่าตัวเขาเองมีความเป็นเลิศทางคณิตศาสตร์และมีทักษะโด่งดังทางด้านโหราศาสตร์
ภายใต้ความดูแลของศาสตราจารย์ มิคาเอล แมสท์ลิน ได้ทำให้เคปเลอร์ได้เรียนรู้แบบจำลองของปโตเลมี และของโคเปอร์นิคัส โดยที่เคปเลอร์เชื่อและเห็นด้วยกับแนวความคิดโคเปอร์นิคัสที่กำหนดให้ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะจักรวาล
                                                                             

กาลิเลโอ กาลิเลอี

กาลิเลโอ กาลิเลอี
GALILEO GALILEI
ค.ศ. 1564 - 1642

กาลิเลโอ นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลี ได้สร้างผลงานสำคัญทางคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และดาราศาสตร์ โดยกาลิเลโอเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกๆ ที่ใช้คณิตศาสตร์ในการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ทางธรรมชาติ และที่สำคัญที่สุด กาลิเลโอเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่ใช้กล้องโทรทรรศน์ในการสำรวจและทดลองทางดาราศาสตร์ ซึ่งผลงานด้านดาราศาสตร์ได้ส่งผลให้กาลิเลโอต้องเผชิญหน้ากับศาสนจักร ในประเด็นที่กาลิเลโอได้ทำการทดลอง และสนับสนุนแนวความคิดของโคเปอร์นิคัสที่ระบุว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะจักรวาล ซึ่งทำให้กาลิเลโอถูกพิพากษาและจำคุกในขณะที่มีอายุค่อนข้างมาก (69 ปี) แต่ภายหลังได้รับการลดหย่อนโดยถูกกักขังให้อยู่ภายในบริเวณบ้านจนกระทั่งเสียชีวิตลงในวัย 78 ปี

วัยเยาว์ของกาลิเลโอ
กาลิเลโอเกิดที่เมืองปิซา ประเทศอิตาลี ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1564 ในวัยเยาว์กาลิเลโอเป็นเด็กที่สนุกสนานร่าเริงตามอุปนิสัยของบิดาผู้ซึ่งเป็นนักดนตรีที่มี อย่างไรก็ตาม กาลิเลโอเองก็ได้รับอิทธิพลบางอย่างมาจากบิดาเช่นกัน โดยเฉพาะด้านความคิดที่ค่อนข้างดื้อรั้น เนื่องจากบิดาของกาลิเลโอมีอุปนิสัยในเชิงความคิดก้าวหน้า และมักจะไม่ลงรอยกับกลุ่มบุคคลผู้มีอิทธิพลด้านวิชาการทางดนตรีที่มักจะมีนิสัยใจแคบและไม่ยอมรับผลงานของผู้อื่น ซึ่งอุปนิสัยดังกล่าวได้ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนในผลงานระยะหลังของกาลิเลโอเอง
กาลิเลโอเรียนเริ่มต้นเรียนหนังสืออยู่ที่บ้านโดยมีบิดาและครูพิเศษเป็นผู้สอน จนกระทั่งอายุได้ 11 ปี ครอบครัวของกาลิเลโอได้ย้ายไปที่เมืองฟลอเรนซ์

วัยศึกษา
ในปี 1581 เมื่อมีอายุได้ 17 ปี กาลิเลโอได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยปิซา ในสาขาแพทย์ตามความประสงค์ของบิดา เนื่องจากเป็นอาชีพที่สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับครอบครัวได้ แต่หลังจากเข้าเรียนเพียงไม่กี่เดือน กาลิเลโอค้นพบว่าตนเองชอบเรียนคณิตศาสตร์มากกว่า ทำให้กาลิเลโอขัดแย้งกับบิดา และกาลิเลโอได้ตัดสินใจเลือกที่จะเรียนคณิตศาสตร์ตามความประสงค์ของตนเอง

ทิโค บราห์

ทิโค บราห์
TYCHO BRAHE
ค.ศ. 1546 - 1601

ทิโค บราห์ นักดาราศาตร์ชาวเดนมาร์ก ได้สร้างผลงานทางดาราศาสตร์ไว้มากมาย โดยเฉพาะบันทึกตำแหน่งดวงดาวบนท้องฟ้าที่ทิโคได้บันทึกไว้ร่วม 40 ปี ซึ่งบันทึกดังกล่าวเปรียบเสมือนมรดกอันล้ำค่าที่โยฮันเนส เคปเลอร์ (ผู้ซึ่งเป็นผู้ช่วยของทิโค) ได้ครอบครองหลังจากทิโคได้เสียชีวิตลงอย่างกระทันหันและเป็นการเสียชีวิตที่เป็นปริศนาจนถึงปัจจุบันว่าเป็นการฆาตกรรมหรือการเสียชีวิตอย่างกระทันหัน รวมไปถึงข้อสงสัยที่ว่าเคปเลอร์ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของทิโคหรือไม่
บันทึกของทิโคได้ระบุตำแหน่งดวงดาวบนท้องฟ้าไว้ถึง 777 ดวง และมีความแม่นยำที่สูงมากในยุคสมัยนั้นซึ่งยังไม่มีกล้องโทรทรรศน์ โดยที่ทิโคเองได้ประดิษฐ์เครื่องมือวัดจำนวนหลายชิ้น รวมทั้งสร้างหอดูดาวยูเรนิเบิร์กอันโด่งดังเพื่อให้การสังเกตการณ์ดวงดาวบนท้องฟ้ามีความถูกต้องสูง ซึ่งในเวลาต่อมาหลังจากที่เคปเลอร์ได้ครอบครองบันทึกดังกล่าว เคปเลอร์ได้ใช้ข้อมูลจากบันทึกของทิโคมาสร้างกฎ 3 ข้อที่ว่าด้วยการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ (Kepler's three laws of planetary motion) ซึ่งเป็นกฎพื้นฐานที่สำคัญทางดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ด้านอวกาศ
ในยุคของทิโค บราห์นั้น เป็นที่ยอมรับว่า ทิโค บราห์เป็นนักดาราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด กระทั่งเคปเลอร์เองก็ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยของทิโค อย่างไรก็ตาม แบบจำลองจักรวาลของทิโคกลับมีข้อผิดพลาดและไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เราทราบกันในปัจจุบัน โดยแบบจำลองดังกล่าวผสมผสานระหว่างแบบจำลองของโคเปอร์นิคัสและของปโตเลมี

วัยเยาว์ของทิโค
ทิโค บราห์ เกิดในตระกูลชนชั้นสูงที่มีฐานะดีในปี 1546 หลังจากโคเปอร์นิคัสเสียชีวิตลง 3 ปี บิดาของทิโคดำรงตำแหน่งขุนนางชั้นสูงในราชสำนักของกษัตริย์เดนมาร์ก ส่วนมารดาของทิโคก็สืบเชื้อสายมาจากตระกูลชั้นนำของเดนมาร์ก ครอบครัวของทิโคมีบุตร 4 คน โดยเป็นหญิง 2 คน ส่วนทิโคและน้องชายเป็นฝาแฝด แฝดผู้น้องของ ทิโคได้เสียชีวิตลงหลังจากที่ได้กำเนิดไม่นาน
ในวัยเยาว์ของทิโค ครอบครัวลุงของทิโคดำรงตำแหน่งขุนนางชั้นสูงและมีฐานะดีแต่ไม่มีบุตร จึงได้ขอทิโคไปเลี้ยงดูตั้งแต่อายุ 2 ขวบ ในปี 1559 ซึ่งทิโคอายุเพียง 12 ขวบได้เข้ารับการศึกษาด้านกฎหมายตามความประสงค์ของลุงที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน นอกจากวิชาด้านกฎหมายแล้ว ทิโคยังได้สนใจศาสตร์ด้านอื่นๆ อีกด้วย โดยเฉพาะศาสตร์ด้านดาราศาสตร์ ซึ่งในห้วงเวลาดังกล่าว ได้เกิดสุริยปราคราขึ้นเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 1960 โดยปรากฎการณ์ดังกล่าวได้มีผู้คำนวณและทำนายไว้ล่วงหน้า ซึ่งการทำนายว่าจะเกิดปรากฎการณ์ดังกล่าวได้สร้างความประทับใจและสร้างแรงกระตุ้นให้แก่ทิโคทำการศึกษาและค้นคว้าในเรื่องดาราศาสตร์อย่างจริงจัง

ศึกษาดาราศาสตร์และการค้นพบครั้งแรกของทิโค
ในปี 1962 ลุงของทิโคส่งเสริมให้ทิโคได้มีประสบการณ์ในการศึกษา ณ ต่างประเทศ โดยทิโคได้เข้ารับการศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยไลป์ซิก (Leipzig) ทางด้านภาษาและวัฒนธรรม โดยวิชาดาราศาสตร์ไม่ได้เป็นวิชาที่ทิโคจะต้องศึกษาอย่างเป็นทางการ แต่ทิโคได้เริ่มสังเกตและทำบันทึกดวงดาวบนท้องฟ้า โดยทิโคได้ตระหนักว่าความสำเร็จในขบวนการทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะทางด้านดาราศาสตร์ที่เขากำลังศึกษาค้นคว้าอยู่นั้น อาจจะเกิดขึ้นได้โดยความบังเอิญของผู้ค้นคว้า แต่การสังเกตดวงดาวอย่างมีระบบที่ใช้ระเบียบวินัยสูงนั้นก็น่าจะทำให้ประสบผลสำเร็จได้เช่นกัน ดังนั้นทุกๆ คืนทิโคได้ทำการสังเกตและบันทึกดวงดาวบนท้องฟ้า โดยใช้เครื่องมือวัดที่มีความแม่นยำที่พอจะหาได้ในยุคนั้น จากการใช้เครื่องมือวัดดังกล่าว ทิโคได้ตระหนักถึงขีดจำกัดของเครื่องมือวัดที่เขาซื้อมาใช้ ดังนั้นเพื่อให้บรรลุถึงความแม่นยำสูงสุด ทิโคได้ประดิษฐ์เครื่องมือวัดขึ้นใช้เองโดยมีความแม่นยำที่สูงกว่าเครื่องมือวัดที่จัดซื้อมาใช้ ซึ่งในประวัติศาสตร์ของดาราศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า ทิโคเป็นนักดาราศาสตร์ที่สำคัญและเป็นคนสุดท้ายที่สร้างผลงานโดยไม่ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์
                                                               

นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส

           

                  นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส

      9 กุมภาพันธ์ 2016 (ค.ศ.1473) วันเกิดของ “นิโคลาส โคเปอร์นิคัส NICOLAUS COPERNICUS” นายแพทย์ นักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ เป็นชาวโปล เกิดที่เมืองตุรัน ประเทศโปแลนด์ ในสมัยของเขานั้นนักดาราศาสตร์ทั้งหลายเชื่อตามทฤษฎีที่ “ปโตเลมี” ตั้งไว้ราว 1,400 ปีมาแล้วว่า โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาลและไม่เคลื่อนที่ แต่ “โคเปอร์นิคัส COPERNICUS” เป็นบุคคลแรกที่กล่าวถึงทฤษฎีเกี่ยวกับการหมุนของระบบสุริยะว่า ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของสุริยะจักรวาล มีโลกและดาวเคราะห์ดวงอื่นๆหมุนอยู่โดยรอบ จึงถือกันว่าเขาเป็นบิดาแห่งดาราศาสตร์สมัยใหม่ “โคเปอร์นิคัส COPERNICUS” ศึกษาวิชาแพทย์ รวมไปถึงคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ที่คราเครา หลังสำเร็จการศึกษาเขาได้เดินทางไปยังอิตาลี ที่นั่นเขาศึกษาเกี่ยวกับดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ และทดลองเรื่องวิทยาศาสตร์แนวใหม่ว่าด้วยการมองเห็น เขาสร้างกล้องส่องทางไกลง่ายๆขึ้นเป็นชิ้นแรก แม้จะไม่ได้ใช้มันในการส่องท้องฟ้าก็ตาม ในอีกเกือบหนึ่งศตวรรษถัดมา “กาลิเลโอ GALILEO” เป็นผู้ที่ใช้กล้องโทรทัศน์ส่องดูท้องฟ้าเป็นคนแรก

เมื่อกลับสู่ “พอเมอราเนีย”ในปี ค.ศ.1505 เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแพทย์แทนลุงของเขา นักดาราศาสตร์ตะวันตกเชื่อตามทฤษฎีของ “ปโตเลมี” ที่คิดขึ้นในปี 150 และมีพื้นฐานจากหลักของ”อริสโตเติล”มาตลอดคือ เชื่อว่าดวงอาทิตย์ ดาวฤกษ์ และดาวเคราะห์ ล้วนหมุนรอบโลก และโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล จนกระทั่งเขาพิสูจน์ว่า ที่จริงแล้วเป็นตรงกันข้าม การศึกษาของ”โคเปอร์นิคัส COPERNICUS”ในช่วง 25 ปีแรกทำให้เขาเชื่อว่าการทำงานของจักรวาลนั้นไม่ซับซ้อนอย่างที่นักดาราศาสตร์ยุคกลางเคยคิดกัน และดวงอาทิตย์ก็เป็นศูนย์กลางของสุริยะจักรวาล ในขณะที่โลกและดาวเคราะห์อื่นๆ หมุนรอบดวงอาทิตย์ ผลงานของเขาชื่อ ON THE REVOLUTION OF THE CELESTIAL SPHERES เสร็จเมื่อปี 1530 แต่เนื่องจากศาสนจักรโรมันคาทอลิกเป็นปรปักษ์กับทฤษฎีของเขา หนังสือจึงไม่ได้ตีพิมพ์จนกระทั่งปีที่เขาเสียชีวิต ศาสนจักรยังคงปฏิเสธการค้นพบของเขาต่อมานานถึง 100 ปี เขาถูกหาว่าเป็นพวกนอกรีต ศาสนจักรเปลี่ยนความเห็นในปลายศตวรรษที่ 17 หลังจากการสังเกตของ “กาลิเลโอ” และทฤษฎีของ”โยฮันเนส เคปเลอร์ KEPLER” ที่ว่าดาวเคราะห์เคลื่อนที่เป็นวงรีได้ยืนยันทฤษฎีของ”โคเปอร์นิคัส COPERNICUS”

โคเปอร์นิคัส มิได้ใช้ความรู้ความสามารถทางการแพทย์ที่ไดศึกษามาแม้แต่น้อย แต่เขาเคยเป็นพระอยู่ระยะหนึ่งและเป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งโรม ประเทศอิตาลี ก่อนที่จะทุ่มเทศึกษาค้นคว้าทางดาราศาสตร์อย่างจริงจัง โคเปอร์นิคัสเป็นนักดาราศาสตร์ที่ไม่เคยใช้กล้องดูดาวเลย เพราะว่าสมัยนั้นยังไม่มีการคิดค้นขึ้นใช้ เขาจึงสร้างเครื่องมือสำหรับใช้ศึกษาดวงอาทิตย์และดวงดาวทั้งหลายขึ้นเอง จากนั้นก็ใช้อุปกรณ์นี้เฝ้าสังเกตการเคลื่อนที่ของเทหวัตถุบนฟากฟ้า กลางวันสังเกตดวงอาทิตย์ กลางคืนสังเกตดวงดาว พร้อมกับจดบันทึกไว้อย่างละเอียด โคเปอร์นิคัสเฝ้าสังเกต ศึกษาค้นคว้า และทดลอง ด้วยความอุตสาหะวิริยะ อย่างอดทนอยู่นานถึงสามสิบปี จึงได้รวบรวมบันทึกการศึกษาค้นคว้าเขียนขึ้นเป็นหนังสือชื่อ "การปฏิวัติวงโคจรของดวงดาวในจักรวาล" ซึ่งกล่าวถึงทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับระบบสุริยะจักรวาลที่เข้าค้นพบว่า "ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาลโดยมีโลกและดาวเคราะห์ทั้งหลายเป็นบริวารโคจรรอบดวงอาทิตย์" นับว่าขัดแย้งกับความเชื่อในสมัยนั้นว่า "โลกเป็นศูนย์กลางของจักร วาล" และเป็นความเชื่อทางศาสนาด้วย และสมัยนั้นประเทศในยุโรปอยู่ใต้อำนาจอันแข็งแกร่งของ ศาสนาจักร เพราะฉะนั้นความเชื่อและความคิดเห็นใดๆ ที่ขัดแย้งกับความเชื่อทางศาสนาจึงเป็นความผิดอย่างร้ายแรงด้วยเหตุนี้ โคเปอร์นิคัสนี้จึงไม่กล้านำผลงานออกเผยแพร่ จนกระทั่งเพื่อนสนิทคนหนึ่งจัดการนำไปพิมพ์ได้สำเร็จก่อนหน้าที่เขาจะเสียชีวิตเพียงไม่กี่ชั่วโมง ถึงกระนั้น เมื่อหนังสือของเขาออกเผยแพร่ ทางศาสนาจักรได้ประกาศห้ามผู้คนเชื่อตามความเห็นในหนังสือของเขามิฉะนั้นจะถูกลงโทษอย่างหนัก

นิโคลาส โคเปอร์นิคัส ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1543 อายุได้ 70 ปี เขาได้รับความยกย่องว่าเป็นผู้ค้น พบตำแหน่งของโลกที่ถูกต้องแท้จริง นอกจากนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้มีความวิริยะอุตสาหะสูงยิ่ง สมกับเป็นบุคคลสำคัญของโลกผู้หนึ่ง
                                                                       


คลอดิอุส ปโตเลมี

คลอดิอุส ปโตเลมี
CLAUDIUS PTOLEMAEUS (PTOLEMY)

ปโตเลมีเป็นนักดาราศาสตร์และนักภูมิศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ (ค.ศ. 90 – 168) ปโตเลมีเป็นชาวกรีกโดยกำเนิด แต่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่เมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ อัตชีวประวัติส่วนตัวของปโตเลมีมีการบันทึกไว้น้อยมากและไม่ชัดเจน

ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้ปโตเลมีมากที่สุด ได้แก่ ชุดประมวลความรู้คณิตศาสตร์ด้านดาราศาสตร์ ที่เรียกว่า "Mathematical Syntaxis" ซึ่งมีจำนวน 13 เล่ม โดยในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นยุคที่ดาราศาสตร์รุ่งเรืองในดินแดนตะวันออกกลาง ชาวอรับได้นำหนังสือดังกล่าวมาแปล โดยเรียกว่า "แอลมาเกสต์" (Almagest) ซึ่งมีความหมายว่า "The Greatest" โดยชุดประมวลความรู้ดังกล่าว ปโตเลมีได้รวบรวมและเรียบเรียงความรู้ต่างๆ ไว้อย่างละเอียด และมีระเบียบเป็นลำดับขั้นตอน ซึ่งสะดวกต่อการค้นคว้าและเข้าใจง่าย ถึงแม้ว่าผลงานทั้งหมดจะไม่ใช่ของปโตเลมีทั้งหมด 
 
 


วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

นักวิทยาศาสตร์ไทย

            ขอแนะนำสุดยอดนักวิทยาศาสตร์ไทยที่มีผลงานเด่น ๆ ให้เพื่อน ๆ ได้รู้จักกัน ขอบอกก่อนว่า บุคคลที่เรากล่าวถึงนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนักวิทยาศาสตร์ไทยเท่านั้น เพราะจริง ๆ แล้วยังมีคนไทยเก่ง ๆ อีกมากมายเลยทีเดียว ซึ่งคงไม่สามารถกล่าวได้หมด ณ ที่นี้อย่างแน่นอน




รัชกาลที่ 4 บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
         พระองค์ทรงเป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย เนื่องจากสนพระทัยเรื่องของวิทยาศาสตร์ เรขาคณิต ตรีโกณมิติ โดยเฉพาะดาราศาสตร์เป็นพิเศษโดยพระองค์ทรงคำนวณปฏิทินจันทรคติแบบใหม่ที่ทรงประดิษฐ์คิดค้นขึ้นด้วยพระองค์เอง ซึ่งมีความแม่นยำถูกต้องตรงกับดวงจันทร์บนท้องฟ้ายิ่งกว่าปฏิทินที่ใช้อยู่เดิมและยังทรงคำนวณการเกิดปรากฎการณ์สุริยปราคาเต็มดวงที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ได้ล่วงหน้าถึง 2 ปีอย่างแม่นยำ 

         และในปัจจุบันนี้ ประชาคมดาราศาสตร์ในระดับสากลที่ศึกษาด้านสุริยุปราคา ยกย่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างแม่นยำ ว่าเป็น "King of Siam's Eclipse"





ศ.นพ.ประเวศ วะสี
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี ปรมาจารย์แห่งวงการแพทย์

         ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นนักวิชาการด้านสาธารณสุขและการศึกษาที่ได้รับการยกย่องในฐานะ"ราษฎรอาวุโส" โดยหลังจากจบการศึกษาแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งได้รับเหรียญทองในฐานะที่ทำคะแนนได้เป็นอันดับหนึ่งตลอดหลักสูตรแล้ว ศ.นพ.ประเวศ ก็ได้รับทุนมูลนิธิอานันทมหิดลไปศึกษาด้านการแพทย์ต่อที่สหรัฐอเมริกา และเมื่อจบการศึกษาแล้ว ศ.นพ.ประเวศ ก็ได้เข้าศึกษาต่อด้านมนุษยพันธุศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทำให้ท่านเป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านพันธุศาสตร์ 

         ทั้งนี้ ผลงานเด่นของ ศ.นพ.ประเวศ ก็คือ การค้นพบกลไกทางพันธุศาสตร์ ของโรคแอลฟ่าธาลัสซีเมีย โดยพบว่ามียีนส์แอลฟ่าธาลัสซีเมีย 2 ชนิด และได้ให้ชื่อว่า แอลฟ่าธาลัสซีเมีย 1 และ แอลฟ่าธาลัสซีเมีย 2 ซึ่งก็ทำให้ท่านได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี พ.ศ.2526 สาขาชีววิทยา (พันธุศาสตร์) รวมทั้งยังได้รับรางวัลอีกมากมาย เช่น รางวัลแมกไซไซ สาขาบริการรัฐ ได้รับเลือกเป็นบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาการแพทย์ และยังได้รับเลือกเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อปี พ.ศ.2531 อีกด้วย




ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา
ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา 
         จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท สาขาวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องคลื่นไมโครเวฟ จากนั้น ดร.อาจอง ก็ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ที่ Imperial College of Science and Technology London University ด้วยความสามารถของ ดร.อาจอง ทำให้เขาสามารถสร้างชื่อเสียงไปในระดับโลก โดยได้เข้าร่วมออกแบบชิ้นส่วนขาและชิ้นส่วนระบบลงจอดของยานอวกาศให้กับบริษัท Martin Marietta ซึ่งองค์การนาซาของสหรัฐอเมริกาว่าจ้างให้ออกแบบ เพื่อนำไปใช้ในยานอวกาศไวกิ้ง 2 ลำส่งไปลงบนดาวอังคาร 

         หลังจากทำงานในต่างประเทศได้สักพัก ดร.อาจอง ก็ได้เดินทางกลับมาทำงานด้านวิศวกรรมในประเทศไทย และได้สร้างผลงานไว้มากมาย จนได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เมื่อ พ.ศ. 2527 นอกจากนี้ ดร.อาจอง ยังเป็นผู้ที่สนใจด้านธรรมะ นำไปสู่การสร้างโรงเรียนวิถีพุทธ เพื่อขัดเกลาจิตใจเยาวชนของชาติอีกด้วย




ศ.ดร.ระวี ภาวิไล 

ศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล 
         ท่านเป็นนักวิชาการด้านดาราศาสตร์ที่บุกเบิกการศึกษาด้านดาราศาสตร์รุ่นแรก ๆ ของประเทศไทย โดยท่านจบวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะไปต่อปริญญาโททางฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยแอเดอเลด ประเทศออสเตรเลีย และศึกษาปริญญาเอกทางดาราศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย จนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์

         สำหรับผลงานเด่น ๆ ด้านดาราศาสตร์ ได้แก่ การศึกษาโครงสร้างของโครโมสเฟียร์ ดวงอาทิตย์ เรื่องโครงสร้างอาณาจักรบริเวณกัมมันต์บนดวงอาทิตย์ เรื่องโครงสร้างและการเคลื่อนไหวของบรรยากาศระดับโครโมสเฟรียร์ของดวงอาทิตย์ รวมทั้งเรื่องบรรยากาศของดวงอาทิตย์ เป็นต้น แต่บุคคลทั่วไปจะรู้จักท่านในช่วงปี พ.ศ.2529 ที่ดาวหางฮัลเลย์เดินทางมาเยือนเมืองไทย รวมทั้งช่วงที่มีข่าวฝนดาวตก ซึ่งนับได้ว่า ศ.ดร.ระวี ภาวิไล เป็นผู้มีส่วนที่ทำให้สังคมไทยสนใจเรื่องดาราศาสตร์มากขึ้น
ศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ ยกส้าน
         ด้วยความที่ ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน จบการศึกษาด้านฟิสิกส์จากอิมพีเรียลคอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน ก่อนจะศึกษาต่อปริญญาโท และปริญญาเอก ด้านฟิสิกส์ของแข็งภาคทฤษฎี จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ สหรัฐอเมริกา ทำให้ท่านมีความเชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์เป็นอย่างยิ่ง และมีผลงานด้านการสร้างทฤษฎีอธิบายสมบัติพื้นฐานบางประการของสภาพนำยิ่งยวด รวมทั้งผลงานด้านวิชาการอีกมากมาย ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติถึง 37 เรื่อง

         ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ ยกส้าน ยังได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2530 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์รวมทั้งรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี พ.ศ. 2530 สาขาฟิสิกส์ทฤษฎี และได้รับทุนวิจัยอื่น ๆ อีกมากมาย

                                                   
ศาสตราจารย์ ดร.วิรุฬห์ สายคณิต

ศาสตราจารย์ ดร.วิรุฬห์ สายคณิต
         ท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นคนแรกของไทย ประจำปี พ.ศ. 2525 สาขาฟิสิกส์ โดยเป็นผู้บุกเบิกในการนำทฤษฎีควอนตัม (Quantum Theory) แบบฟายน์แมน (Feynmen) มาประยุกต์กับเรื่องของฟิสิกส์ของสภาวะของแข็ง (Condensed Matter Physics) และได้ทำการค้นคว้าเรื่องนี้ติดต่อกันนานกว่า 30 ปี จนสามารถสร้างผลงานนำทฤษฎีของฟายน์แมนมาประยุกต์กับปัญหา ของระบบที่ไร้ระเบียบ และนำเสนอทฤษฎีควอนตัมแบบฟายน์แมนประยุกต์กับปัญหาต่าง ๆ ซึ่งงานวิจัยทั้ง 2 เรื่อง ถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติที่มีชื่อเสียงหลายเล่ม และถูกนำไปใช้อ้างอิงในงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์นานาชาติเป็นจำนวนมาก




ศ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์
         เป็นที่ฮือฮาอย่างมากในช่วงปี พ.ศ.2538 เมื่อ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ประสบความสำเร็จในการคิดค้นวิจัยยาต้านเชื้อไวรัสเอดส์ในประเทศไทย จนสามารถผลิตยาสามัญชื่อ "ZIDOVUDINE" (AZT)ซึ่งเป็นยาต้านเอดส์ลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกเป็นครั้งแรกของโลก และได้เดินทางไปถ่ายทอดการผลิตยาในหลายประเทศในทวีปแอฟริกานานนับหลายปี จนได้รับฉายาว่า "เภสัชกรยิปซี" 

         โดยกว่า 30 ปีที่ ดร.กฤษณา ได้ทุ่มเทกับการทำงานเพื่อผลักดันให้ผู้ป่วยยากไร้ทั่วโลกได้มีโอกาสใช้ยารักษาโรคเอดส์ ก็ส่งผลให้ท่านได้รับรางวัล "บุคคลแห่งปีของเอเชีย ประจำปี ค.ศ. 2008" จากนิตยสารรีดเดอร์ส ไดเจสท์รวมทั้งรางวัลนักวิทยาศาสตร์โลก (Global Scientist Award) ประจำปี พ.ศ. 2547 จาก Letten Foundation ประเทศนอร์เวย์อีกทั้งยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์ จาก Mauny Holly Oke College, USA อีกด้วย

ศ.ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี
ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี
         นักคณิตศาสตร์ที่ได้รับรางวัลการันตีมาแล้วมากมายจากทั่วโลกรวมทั้งรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2541 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี 2550 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ประเภทวิทยาศาสตร์กายภาพ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2544

         ทั้งนี้ ทุกรางวัลที่ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี ได้รับนั้น ล้วนมาจากความทุ่มเทวิจัยด้านการนำขบวนการทางคณิตศาสตร์ใหม่ ๆ ไปใช้อธิบายปรากฏการณ์ และระบบต่าง ๆ ในทางชีววิทยาและการแพทย์ รวมไปถึงระบบทางนิเวศวิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพ ที่สร้างประโยชน์มากมายต่อวงการศึกษา การแพทย์ และการวิจัยของไทย

ศ.ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์
         เจ้าของรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาเคมี ประจำปี พ.ศ. 2529 และรางวัลนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดีเด่นอาเซียน ประจำปี พ.ศ. 2538 โดยมีผลงานสำคัญคือการวิจัยค้นพบสมุนไพรรักษามะเร็งเป็นคนแรกของโลก รวมทั้งงานวิจัยด้านสารออกฤทธฺ์ทางชีวภาพจากเชื้อราและงานวิจัยด้านอินทรีย์เคมีสังเคราะห์อีกหลายชิ้น ซึ่งงานวิจัยของท่านกว่า 118 เรื่องได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูลสากล รวมกว่า 1,016 ครั้ง

                                                   
ศ.ดร.ณัฐ ภมรประวัติ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ
         เป็นผู้ที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2536 สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้วยผลงานด้านพยาธิวิทยา ที่ศึกษาพบว่า สาเหตุของการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีซึ่งพบมากในผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับอาจมาจากการที่สารก่อมะเร็งที่อยู่ในอาหาร ไปกระตุ้นเซลล์ของระบบท่อน้ำดี ซึ่งถูกรบกวนจากพยาธิใบไม้เป็นเวลานาน ๆ นอกจากนี้ ท่านยังมีผลงานศึกษาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ด้านอิมมิวโน พยาธิวิทยาของโรคไข้เลือดออกในเด็ก ซึ่งก่อให้เกิดการประยุกต์รักษาผู้ป่วยได้ในอนาคต

         อย่างไรก็ตาม ท่านยังได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณมากมายแต่ที่รางวัลที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยมากที่สุด ก็คือ รางวัล Pasteur Medal จากองค์การยูเนสโก และสถาบันปาสเตอร์ของ หลุยส์ ปาสเตอร์ นักวิทยาศาสตร์เอกของโลกนั่นเอง

                                                   
ศ.ดร.สง่า สรรพศรี

ศาสตราจารย์ ดร.สง่า สรรพศรี
         อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม สมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านเป็นคนแรกของสาขาวิชาวนศาสตร์ของประเทศไทยที่ได้รับปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้ริเริ่มชักชวนอาจารย์หลายท่านหันมาร่วมกันทำงานด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ โดยทำวิจัยและรวบรวมข้อมูลนับสิบปี จนมีผลงานการวิจัยเกี่ยวกับป่าไม้ออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเรียนการสอนในวิชาด้านสิ่งแวดล้อม

         ด้วยความสามารถและความมุ่งมั่น ส่งผลให้ ศ.ดร.สง่า สรรพศรี ได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นแห่งชาติสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากคณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2530 และได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ไทยคนแรกที่เป็นที่ปรึกษาองค์การยูเนสโก

                                             
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญญาแก้ว 

ศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ปัญญาแก้ว 

         ท่านจบการศึกษาระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่น จากนั้นก็ได้กลับมาทำงานสอนหนังสือที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีผลงานสำคัญ เช่น การสร้างห้องปฏิบัติการวิจัยสิ่งประดิษฐ์สารกึ่งตัวนำซึ่งเป็นห้องปฎิบัติการที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย รวมทั้งยังศึกษาวิจัยการประยุกต์นำพลังงานโซลาร์เซลล์ หรือเซลล์แสงอาทิตย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และผลงานเซลล์แสงอาทิตย์นี้เองก็ทำให้ท่านได้รับรางวัลมากมาย เช่น รางวัลผลงานวิจัยดีเด่นจากคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.2529 และได้รับเลือกให้เป็นนักวิจัยดีเด่นของทบวงมหาวิทยาลัย ประจำปี พ.ศ.2540 

         ทั้งนี้ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญญาแก้ว กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษางานวิจัยด้านนาโนอิเล็กทรอนิกส์

                                                       
       ศ.ดร.แถบ นีละนิธิ

ศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ
         ท่านเป็นบิดาแห่งวิชาเคมีของไทยผู้ล่วงลับ โดย ศ.ดร.แถบ นีละนิธิ ได้ศึกษาด้านวิชาเคมีจนเชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา และกลับมารับราชการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผลงานเด่นของท่านก็คือ การบุกเบิกจัดทำหลักสูตรปริญญาบัณฑิตทางเคมีเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและท่านก็เป็นผู้สอนนิสิตด้วยตัวเอง

         นอกจากนี้ ในระหว่างที่ท่านดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้เริ่มพัฒนาขยายหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์บัณฑิตให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของรัฐบาลในยุคนั้น เช่นเดียวกับการบุกเบิกด้านคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตอย่างเป็นทางการแห่งแรกของประเทศไทย ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
                                                            
                                                      
          ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา 
         ท่านเป็นศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ซึ่งมีผลงานเรื่องการพัฒนารูปแบบการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค ที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก และยังได้ศึกษาโรคสมองอักเสบทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโดยเฉพาะจากพิษสุนัขบ้า และสมองอักเสบจากภาวะแปรปรวนทางระบบภูมิคุ้มกันแบบครบวงจร

         ด้วยผลงานการวิจัยต่าง ๆ ทำให้ท่านได้รับรางวัลมากมาย ทั้งรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น จากสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2535 รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จากสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2537 รวมถึงรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปีพุทธศักราช 2547 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์